วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เพลงพื้นบ้านบางลี่วิทยา บนเวทีต่างๆ
             อาจารย์พิสูจน์พาคณะเพลงพื้นบ้านบางลี่วิทยา ไปแสดงในที่ต่างๆในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมาหลายครั้ง แสดงทั้งเวทีเล็ก เวทีใหญ่ เวทีงานวัด เวทีกลางสนาม หรือแม้แต่ในซุ้มแคบๆ เราแสดงได้ทุกรูปแบบ ดิฉันจะขอนำภาพมาเสนอให้ท่านชมกันนะค่ะ 


แสดงที่สนามโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๕ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ของ สพม.๙

แสดงงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี ๒๕๕๕ ที่โรงเรียนบางลี่วิทยา

แสดงรับเสด็จองค์ประธานโครงการทูบีนัมเบอร์วัน ที่สถาบันการพลศึกษาสุพรรณบุรี ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕

แสดงงานเทิดไท้มหาราชินี วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๕ กรุงเทพฯ

แสดงประกวดการร้องเพลงพื้นบ้าน ๑๘ พ.ย.๒๕๕๕ ที่โรงละครแห่งชาติและได้รางวัลชนะเลิศ โดย น.ส.ทิราธร หงษ์โต 

แสดงในงานประจำปีวัดดอนมะเกลือ อำเภออู่ทอง ๒๕ พ.ย. ๒๕๕๕

แสดงรับการประเมินโรงเรียนในฝัน ๑๔ ก.พ.๒๕๕๖
***และติดตามพวกเราได้ในโพสต์ต่อไปนะค่ะ คณะอีเเซวโรงเรียนบางลี่วิทยาจะยังสืบสาน อนุรักษ์เพลงพื้นบ้านของจังหวัดสุพรรณบุรี ให้คงอยู่ต่อไปค่ะ ^___^



เพลงฉ่อย

 เพลงฉ่อย
"โอง โวง โว โชะ ละ โอ่ โง๋ง โง๋ย "

มาร้องมารำ ละเล่นเพลงฉ่อย..............แต่ว่ากลัวจะกร่อย ไม่อร่อยไป
เล่นได้หลายแบบ และหลายรส...............ด้นต่อกลอนสด ให้สุขใจ
วันนี้ฤกษ์ดี เรามาร่วมรักษ์............เชิญคุณซอมฯ พิทักษ์ ของไทยไทย
จะร้องหรือจะรำ ก็ว่ากันต่อ.............เชิญทุกท่านหัวร่อ อ่านกันใหม่
อ่านแล้วนั่นก็อาจ จะไม่มันส์...........เชิญมาร่วมลงขัน ประชันไหม
ขยับแข้งขยับขา ให้กระฉับกระเฉง.........พ่อเพลงแม่เพลง สู้สุดใจ
พี่น้องผองเพื่อน ร่วมกันฮา.............ขออย่ารอช้า บรรเลงไวไว

เอชา..เอ้ชา..ชา ชาชา หน่อยแม่.....
  
- ๑ -
ลูกขอยกมือขึ้นเหนือเศียร..........ต่างธูปต่างเทียนวันทา
จะไหว้พระพุทธ์เลิศล้ำ.............จะไหว้พระธรรมเลิศหล้า
จะไหว้พระสงฆ์องค์สามารถ...........ทรงพุทธศาสน์สืบมา
จะไหว้คุณครูผู้สั่งสอน............อีกทั้งบิดรมารดา


- ๒ -

ต้นเต็งเป็นแถวต้นแต้วเป็นทิว...........กาหลงสูงลิ่วเรียงราย
ข่อยคูนแคคางเคียงข้างไข่เน่า...........ไกรกร่างกันเกราหว้าหวาย
ขานางยางยูงไทรย้อยรากยาว...............มะต้องทองกวาวเขลงขลาย
ชมไม้ปลายฝนลมพัดโบก....................ลมหนาวมันโกรกไม่วาย
  
- ๓ -

โอ้ว่ากรรมเอ๋ยกรรมกรรม..............ไม่รู้เลยจะทําอย่างไร
ถ้าเป็นกำกงหรือกำเกวียน.............หักแล้วเปลี่ยนกำใหม่
ถ้าเป็นกำมือหรือกำหมัด..............กำแล้วก็ยังรัดออกได้
โอ้นี่มันเป็นกรรมคน.................หักแล้วจึงจนหัวใจ


วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ตัวอย่างบทร้องเพลงอีเเซว

  บทร้องประวัติเพลงอีแซว    
     เอ่อ เฮ้อ เออ... เอ่อ เอิ้ง เง้อ... เอ่อ เอิ้ง เงย...  อือ...
     บรรจงจีบสิบนิ้ว        ขึ้นหว่างคิ้วทั้งคู่ (เอิง เงอ เอ๊ยแล้วทั้งคู่
        เชิญรับฟังกระทู้          เอ๋ยแล้วเพลงไทย (เอ่อ เอ้อ เอ๊ยแล้วเพลงไทย
     เชิญสดับรับรส         กลอนสดเพลงอีแซว    
     ฝากลำนำตามแนว    เพลงอีแซวยุคใหม่
     เพลงอีแซวยุคใหม่    ผิดกับสมัยโบราณ
     ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน      นับวันจะสูญหาย
     ถ้าขาดผู้ส่งเสริม       เพลงไทยเดิมคงสูญ (เอิง เงอ เอ๊ยแล้งคงสูญ
     ถ้าพ่อแม่เกื้อกูล       ลูกก็อุ่นหัวใจ (เอ่อ เอ้อ เอ๊ยอุ่นหัวใจ
     อันว่าเพลงพื้นเมือง  เคยรุ่งเรืองมานาน 
     สมัยครูบัวผัน          และอาจารย์ไสว
     ประมาณร้อยกว่าปี   ตามที่มีหลักฐาน
     ที่ครูบาอาจารย์       หลายๆ ท่านกล่าวไว้
     ทั้งปู่ย่าตายาย        ท่านก็ได้บอกเล่า (เอิง เงอ เอ๊ยได้บอกเล่า
     การละเล่นสมัยเก่า     ที่เกรียวกราวเกรียงไกร (เอ่อ เอ้อ เอ๊ยแล้วเกรียงไกร
     ในฤดูเทศกาล        เมื่อมีงานวัดวา        
     ทอดกฐินผ้าป่า       ก็เฮฮากันไป
     ยามตรุษสงกรานต์   ก็มีงานเอิกเกริก
     งานนักขัตฤกษ์       ก็เอิกเกริกกันใหญ่
     ประชาชนชุมนุม     ทั้งคนหนุ่มคนสาว
     ทั้งผู้แก่ผู้เฒ่า         ต่างก็เอาใจใส่
     ชวนลูกชวนหลาน   ไปร่วมงานพิธี (เอิง เงอ เอ๊ยงานพิธี
     ถือเป็นประเพณี      และศักดิ์ศรีคนไทย (เอ่อ เอ้อ เอ๊ยแล้วคนไทย
     ที่จังหวัดสุพรรณ     ก็มีงานวัดป่า
     คนทุกทิศมุ่งมา       ที่วัดป่าเลไลยก์
     ปิดทองหลวงพ่อโต  แล้วก็โมทนา
     ให้บุญกุศลรักษา      มีชีวาสดใส
     ได้ทำบุญทำทาน     ก็เบิกบานอุรา 
     สุขสันต์หรรษา        ทั่วหน้ากันไป
     ได้ดูลิเกละคร          เวลาก็ค่อนคืนแล้ว (เอิง เงอ เอ๊ยค่อนคืนแล้ว
     เพลงฉ่อยเพลงอีแซว   ก็เจื่อยแจ้วปลุกใจ (เอ่อ เอ้อ เอ๊ยแล้วปลุกใจ 
     หนุ่มสาวชาวเพลง    ก็ครื้นเครงล้อมวง
     เอ่ยทำนองร้องส่ง     ตั้งวงรำร่าย
     ร้องเกี้ยวพาราสี       บทกวีพื้นบ้าน 
     เป็นที่สนุกสนาน      สำราญหัวใจ
      พลงพวงมาลัย         บ้างก็ใส่เพลงฉ่อย  (เอิง เงอ เอ้ยแล้วเพลงฉ่อย
      ทั้งลูกคู่ลูกข้อย       ต่างก็พลอยกันไป  (เอ่อ เอ้อ เอ๊ยพลอยกันไป 



วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เพลงอีเเซว


        เพลงอีแซว เป็นเพลงประจำถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีอายุกว่า 100 ปี แต่เดิมนิยมเล่นในลักษณะเกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายหญิง โดยใช้ภาษาเรียบง่าย ต่อมาจึงพัฒนามาเป็นเพลงปฏิพากย์ ร้องโต้ตอบกัน และมีความยาวมากขึ้น มีลักษณะสนุกสนาน สามารถเล่นได้ในทุกโอกาส

ผู้แสดง

        ฝ่ายหญิงมักใส่เสื้อคอกลมหรือคอเหลี่ยมกว้าง และฝ่ายชายมักใส่เสื้อคอกลมสีสันฉูดฉาด จำนวนผู้แสดงไม่มีกำหนดตายตัว โดยหน้าที่ของผู้แสดงแต่ละคนสามารถแยกได้เป็น พ่อเพลง (ผู้ร้องนำฝ่ายชาย), แม่เพลง (ผู้ร้องนำฝ่ายหญิง), คอต้น (ผู้ร้องนำคนแรก), คอสองและคอสาม, ลูกคู่

ลำดับการเล่น
        
  1. บทไหว้ครู เป็นการกราบไว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งพระรัตนไตร เทวดา ภูตผี พ่อแม่ และครูเพลง (ซึ่งมีสองแบบคือ ครูเพลงที่เป็นจิตวิญญาณ เช่นพระนารายณ์ ฤๅษี และครูเพลงที่เป็นคน ได้แก่ คนที่สอนเพลงแก่ผู้ร้อง)โดยจะต้องนั่งกับพื้น และมีพานกำนลถือไว้ขณะร้อง โดยเริ่มร้องที่พ่อเพลงจากนั้นจึงเป็นส่วนของแม่เพลง
  2. บทเกริ่น เป็นบทร้องของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ก่อนที่จะออกมาพบกัน โดยจะร้องสลับกันไป หลังจากไหว้ครู นักแสดงจะต้องลุกเพื่อร้องเพลงออกตัว ที่ทักทายและแนะนำตัวกันรวมถึงการฝากเนื้อฝากตัวด้วย จากนั้นจึงร้องเพลงปลอบซึงเป็นการชักชวนให้ฝ่ายหญิงออกมาร้องโต้ตอบกัน
  3. เพลงปะ เป็นเพลงที่ทั้งสองฝ่ายชายและหญิงร้องโต้ตอบกันไปมา ส่วนใหญ่จะเป็นการปะทะคารม มีทั้งในเรื่องราวของความรัก การประลอง หรือเป็นการชำลองนิยายกรือวรรณกรรม
  4. บทจากหรือบทลา เป็นเพลงที่ร้องเพื่อแสดงความอาลัยกับคู่ร้องและคนดู เนื่องจากใกล้หมดเวลาในการเล่นแล้ว
  5. การอวยพร เป็นการร้องขอบคุณผู้จ้าง คนดู และผู้ร่วมแสดง
พ่อเพลงและแม่เพลงเริ่มต้นจากบทไหว้ครู ฝ่ายชายจะร้องบทปลอบ จากนั้นฝ่ายหญิงก็จะร้องบทรับแขก ผู้ชายจึงเริ่มการเกี้ยวพาราศี ผู้หญิงอาจจะปะทะอารมณ์ หรือเล่นตัว ฝ่ายชายจึงว่าบทออด ฝ่ายหญิงจึงที่ไม่รับรัก และขอให้ฝ่ายชายมาสู่ขอตนจบด้วยฝ่ายชายขอพาหนี เมื่อหนีแล้วก็เป็นบทชมนกชมไม้

***คณะเพลงพื้นบ้านโรงเรียนบางลี่วิทยา นางสาวทิราธร หงษ์โต ประกวดร้องเพลงพื้นบ้านศิลปินถิ่นสุพรรณ ชนะเลิศ ได้ถ้วยรางวัลพร้อมเงิน ๕,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๑๘ พ.ย. ๒๕๕๕ ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและสมาคมอุตสาหก­รรมบันเทิงฯ